ภาษาอังกฤษในหน้าหนังสือพิมพ์ และองค์ประกอบของข่าว

9327
การอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ

นักเรียนหลาย ๆ คน ได้ถามครูณิชากันมามากว่า “เราจะสามารถเพิ่มวงคำศัพท์ให้มากขึ้นได้อย่างไร?” หรือ “ผม/หนูไม่ค่อยได้คำศัพท์ จะทำอย่างไรดีคะ/ครับ?” ซึ่งครูณิชามักจะตอบกลับไปเสมอว่า “อ่านบ่อย ๆ อ่านให้มากเท่าที่จะอ่านได้

บทความก่อนหน้าครูณิชาแนะนำเรื่องของหนังสืออ่านนอกเวลา (Graded Readers) วันนี้ครูณิชาจะแนะนำสิ่งที่เป็น Advanced ขึ้นมาอีก บอกเลยว่า ใครนึกไม่ออกจะเตรียมตัวสอบ TOEIC อย่างไร วิธีนี้จะช่วยได้เยอะค่ะ นั่นคือ “Reading English Newspaper” การอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษค่ะ คำศัพท์ โครงสร้างประโยคมาเต็มแน่นอน เรียกได้ว่าเป็น Reading materials ที่ซื้อครั้งเดียวอาจอ่านได้เป็นอาทิตย์เลยสำหรับบางคน…

.

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ องค์ประกอบของข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์กันก่อนนะคะ

  1. Headlines (พาดหัว: สั้น, กระชับ, ดึงดูด)
  2. Illustrations (ภาพประกอบ)
    • Captions (คำอธิบายภาพ)
  3. Lead (ข่าวนำ: เป็นถ้อยคำบอกสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง)
  4. Statement (ถ้อยคำแถลง: จากผู้อยู่ในเหตุการณ์/ผู้ที่เกี่ยวข้อง)
  5. Details (รายละเอียด:  อะไร, ที่ไหน, เมื่อไร)
  6. Background (ความเป็นมาเชิงลึก: อะไร, ใคร, ทำไม, ที่ไหน, เมื่อไร, อย่างไร)

ผู้อ่านข่าวจะมี 2 กลุ่มค่ะ 1) รีบเร่งอ่านแค่สรุปใจความ (1 – 3) และ 2) มีเวลาอ่านสบาย ๆ จิบกาแฟไป อ่านไป (อ่านต่อถึง 4 – 6) ด้วยเหตุนี้การเรียงเนื้อหาข่าวจึงเอาสรุป หรือใจความเด่น ๆ มาเขียนก่อน แล้วรายละเอียดค่อยบรรยายต่อไปในรายละเอียด จึงไปจนถึงส่วนสุดท้ายคือ Background สำหรับผู้ที่ต้องการรู้รายละเอียดนั่นเองค่ะ

ข่าวหนังสือพิมพ์มักจะบอกให้ผู้อ่านทราบถึง…

  • Something happened. (บางสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว)
  • Something is happening. (บางสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่)
  • Something is going to/is expected to/might happen.
    (บางสิ่งที่จะเกิดขึ้น/คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น/อาจจะเกิดขึ้น)
  • Someone said something happened. (บางคนบอกว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นแล้ว)
  • Someone said something is happening. (บางคนบอกว่ามีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่)
  • Someone said something is going to happen, … etc. (บางคนบอกว่าจะมีบางสิ่งเกิดขึ้น/บางสิ่งจะเกิดขึ้น)
  • Someone said something should happen. (บางคนบอกว่าบางสิ่งควรจะเกิดขึ้น)
  • Someone said something should not have happened.
    (บางคนบอกว่าบางสิ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย—แต่เกิดขึ้นไปเสียแล้ว)

Headlines หรือพาดหัวข่าวมักจะใช่รูปแบบในการเขียนต่างไปจากปกติเล็กน้อย ครูณิชาจะนำไปทำความรู้จักกับ Headlines ของข่าวภาษาอังกฤษค่ะ ทุกคนจะได้เข้าใจถึงโครงสร้างและเข้าใจเนื้อหาที่ข่าวจะสื่อถึงได้ค่ะ

Headlines มักจะ

  • ใช้ Present simple tense
    • Officials accuse Akara of encroaching on forests
      เจ้าหน้าที่กล่าวหาเหมืองทองอัคราข้อหาบุกรุกป่าไม้ (กล่าวหาไปแต่เล่าให้เป็น Present simple tense ให้รู้สึกข่าวยังสดใหม่เป็นปัจจุบันค่ะ)
  • ใช้ to infinitive แทนอนาคตกาล
    • Japan to release treated Fukushima water into sea – reports (Bangkok Post, 16/10/2563)
      ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำที่ถูกบำบัดแล้วลงทะเล (ใช้ to release แทน will release ค่ะ)
  • ละ verb to be
    • Two arrested on motorcade charges (Bangkok Post, 16/10/2563)
      สอง(คน)ถูกจับเพราะขวางขบวนรถ(เสด็จ) (พาดหัวข่าวไม่ใช้รูปอดีต ถ้าเป็นกริยารูปอดีตมาแสดงว่าเป็น passive voice คือ verb to be + V3 ที่ถูกละ verb to be ออกไป)
  • ละ Article
    • Thailand braces for second storm in two weeks
      ละ the ไว้ ตามปกติแล้วหน้าจำนวนลำดับที่ first/second/third …etc จะมีการใช้ the ในพาดหัวจะละ a/an/the ไว้ทั้งหมดค่ะ
  • ใช้ comma แทน and
    • One killed, 2 hurt in train crossing crash
      หนึ่ง(คน)เสียชีวิต และอีกสองคนบาดเจ็บจากเหตุกาณ์รถไฟชนขณะข้ามทางรถไฟ ใช้ (,) แทนคำว่า and ค่ะ
  • หากไม่ใช่ประโยค ก็จะเป็นนามวลี
    • Ratchaprasong jittery over protests (Bangkok Post, 16/10/2563)
      ราชประสงค์หวั่นใจกับการประท้วง (เป็นกลุ่มคำนามค่ะ ไม่มีกริยาในประโยคนี้)
  • ใช้อักษรย่อ
    • DC, KTBST launch B2.5bn hotel equity trust
      ใช้ DC ย่อมาจาก Destination Capital, KTBST = Krung Thai Bank Securities Thailand, B = baht, bn = billion ใช้ตัวย่อเพื่อลดความยาวของพาดหัวข่าวค่ะ

และในส่วนของเนื้อหาข่าว Lead จะมีเพียง 1 ย่อหน้าแรก (เว้นเสียแต่ข่าวไหนยาวอาจจะเป็น 2 ย่อหน้าได้) ส่วนของง Details จะมีเพียง 2-3 ย่อหน้า และที่เหลือจะเป็นการเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมดจนถึงจุดสิ้นสุดเห็นการณ์จะเป็น Background ในส่วนนี้จะยาวที่สุด สาเหตุที่การเรียบเรียงเนื้อหาข่าวมีการเรียบเรียงหรือเขียนไม่เหมือนการอ่านประเภทอื่น ๆ เพราะว่า ผู้ที่จะอ่านข่าวมักจะไม่มีเวลาอ่านข่าวมากนักในชั่วโมงรีบเร่งค่ะ จึงมีการเขียนสรุปไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ แง้มรายละเอียดมาทีละนิด จนไปถึงส่วนสุดท้ายจะมีความยาวมากขึ้น สำหรับคนที่มีเวลาอ่านนั่นเอง ดังนั้นคนที่ไม่รู้จักโครงสร้างข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจึงจะรู้สึกอ่านยาก อ่านแล้วสับสนเหมือนเนื้อหาวน ๆ เพราะข่าวมีการเขียนเรียงลำดับดังนี้นั่นเองค่ะ

อ่านบทความนี้จบแล้วอย่าลืมเริ่มหาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมาอ่านกันนะคะ จะได้เรียนรู้คำศัพท์มากขึ้นอย่างรวดเร็วค่ะ วันนี้ครูณิชาขอตัวไปก่อนค่า พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ 😊

Share
.