จากการสอนสู่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

924

จากการทดลองทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็น พบว่า บุคคลที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษเลยแม้แต่น้อย มักจะเป็นคนที่เกลียดวิชานี้มาตั้งแต่เด็ก รวมถึงบางคนที่มีหัวใจเอนไปทางคณิตศาสตร์มากกว่า และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ในบทความนี้หลายคนคงเกิดคำถามว่า อ่าวแล้วฉัน/ผมต้องรู้ด้วยเหรอ การสอนภาษาอังกฤษเนี่ย เป็นที่ปฏิเสธได้ยากว่าการสอนผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้เหมือนกัน เพราะสิ่งนี้ทำให้เราทำซ้ำ ทำบ่อย จนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา เรียกได้ว่าสอนคนอื่นก็เท่ากับสะท้อนกลับมาสอนตัวเองด้วยเช่นกัน

.

คำถามต่อมาก็คือ…

คุณจะทำอย่างไร ถ้าอยากให้คนที่คุณรักหรือคนใกล้ชิดของคุณ เก่งภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่เขาหรือเธอ ไม่ชอบเรียนวิชานี้เลย?

            ยกตัวอย่างเช่น สาวไทยบางคนที่สามีฝรั่งอุตส่าห์ลงทุนจ่ายค่าเรียนให้ เรียกว่า ทุ่มสุดตัวเลย แต่พอเรียนได้ไม่กี่เซสชั่นเท่านั้น เธอก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่กลับมาเรียนในคลาสอีกเลย หรือหนุ่มวัยรุ่นสายวิศวะ ที่คุณพ่อคุณแม่อุตส่าห์ลงทะเบียนเรียนให้เสร็จสรรพ แต่ก็หายลับหลังจากเข้าเรียนได้เพียงชั่วโมงเดียวอีกเหมือนกัน

…ช่างน่าเสียดายแทนจริงๆ

อย่างไรก็ดี เรามีวิธีการสอนมาแนะนำให้ ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้สอนภาษาอังกฤษให้แก่คนที่คุณรักได้ด้วยตนเอง แต่หากตัวคุณเองก็ไม่เก่งพอที่จะสอนเหมือนกัน ก็สามารถแนะนำให้เขาหรือเธอมาทดลองเรียนกับคุณครูที่รู้เทคนิคการสอนดังต่อไปนี้                      

1) ใช้ภาพประกอบเยอะๆ
ถ้าคนที่เกลียดวิชาคณิตศาสตร์ไปเข้าเรียนกับติวเตอร์คาบแรก แล้วเจอกับตัวเลขยั้วเยี้ยไปหมด ก็คงจะหดหัวหายตัวไปเหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงควรเริ่มสอนคนที่เกลียดภาษาอังกฤษด้วยการใช้ภาพประกอบเยอะไว้ก่อน เพราะรูปภาพถือเป็นภาษาที่คนเราสามารถเข้าใจกันได้อย่างเป็นสากล การใช้รูปภาพเป็นสื่อช่วยประกอบการสอนให้แก่คนที่ไม่มีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษเลย จะช่วยทำให้พวกเขายอมเปิดใจรับ

นอกจากรูปภาพแล้ว กราฟหรือตารางต่างๆ ก็สามารถช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเลือกใช้รูปภาพให้เหมาะสมกับความชอบส่วนตัวของพวกเขา

2) Make it simple!
การจัดระบบและหลักสูตรการเรียนการสอนอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษมาก่อน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การทำให้บทเรียนแต่ละบทง่ายๆไว้ก่อน และงดการสอนในหัวข้อที่ยากๆ แต่เก็บเอาไว้สอนตอนหลัง เช่น เรื่องของแกรมม่าหรือเทนส์ต่างๆ มิฉะนั้น จะทำให้พวกเขารู้สึกต่อต้านและไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษไปอีกตลอดกาล

หัวข้อง่ายๆ ที่ควรใช้สอนนั้น อาจจะเริ่มจากการสอนโครงสร้างของภาษาอังกฤษและรูปประโยค (Part of speech) รวมถึงประเภทของคำต่างๆ และให้ใช้คำศัพท์ง่ายๆ หลีกเลี่ยงการใช้คำที่เข้าใจยากหรือซับซ้อน ก่อนที่จะค่อยๆเพิ่มระดับความยากขึ้นไปทีละนิด

3) สอนเป็นช่วงสั้นๆ
วิธีการสอนหรือติวแบบต่อเนื่องยาวนานเกินไปในแต่ละครั้งนั้น มักจะใช้ไม่ได้ผลกับคนที่เกลียดวิชาภาษาอังกฤษ ถึงแม้พวกเขาจะทนฟังอยู่ได้จนจบ แต่พวกเขาจะไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราสอนเลย (สังเกตได้จากสายตาที่เหม่อลอยไปทางอื่น) และแน่นอนว่าการสอนภาษาอังกฤษกับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย ย่อมไร้ผลยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ผู้สอนควรจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการสอนใหม่ เช่น แบ่งช่วงการสอนเป็นแบบช่วงระยะเวลาสั้นๆ เว้นพักเบรคหลายๆช่วง ผสมผสานไปกับการทำกิจกรรมสนุกๆ และการฝึกฝนการใช้งานภาษาอังกฤษจริง ซึ่งสามารถช่วยให้พวกเขาเพลิดเพลินไปกับการเรียนอีกด้วย

จงจำเอาไว้ว่า เมื่อใช้เทคนิคทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ต้องค่อยๆสอดแทรกเนื้อหาที่ยากๆและจำเป็นต่อการเรียนรู้เข้าไปด้วย เพื่อให้การเรียนรู้นั้น เกิดประสิทธิดังที่ตั้งใจไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้คงไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ สำหรับการทำเพื่อคนที่คุณรักและหวังดี

Share
.