การท่องศัพท์แบบง่าย ๆ ให้เกิดประสิทธิผล

2030

เราไม่อยากจะใช้หัวข้ออย่างเช่นว่า ‘5 เทคนิคการจำ’ หรือ ’10 เทคนิคการท่องศัพท์แบบมิรู้ลืม’ เพราะเราเคยพูดในประเด็นนี้ไปแล้วว่า การท่องก็เปรียบเสมือนการอ่านธรรมดาๆทั่วไป ซึ่งใช้ส่วนหนึ่งของสมองในการทำหน้าที่นั้น แต่สมองส่วนอื่น (ส่วนการเรียนรู้) จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจำหรือไม่จำสิ่งใด
ทบทวนกันหน่อย: การเรียนรู้ = การจำ

จากบทความเรื่อง ‘กลไกการเรียนรู้ควบคู่การจำ’ สมองของคนเราจะจำคำศัพท์ใดคำศัพท์หนึ่งได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อเราให้โอกาสมันได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์นั้น ๆ อย่างไรก็ดี การท่องศัพท์ก็เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นเช่นกัน เราเพียงแค่ต้องทำมันอย่างถูกวิธี

.

เคล็ดลับท่องศัพท์ (ที่ไม่ลับอีกต่อไป)

1) ท่องครั้งเดียว
ใช่ครับ ท่องครั้งเดียว…แต่ให้ฝึกใช้หลายๆครั้งหรือสม่ำเสมอ ตามสไตล์การ ‘เรียนรู้’ ในแบบที่ตนเองถนัด การท่องหรืออ่านซ้ำๆ ไม่ได้ช่วยให้สมองจำสักเท่าไร เราจึงควรให้เวลากับการท่องไม่เกิน 10% ของขั้นตอนหรือกระบวนการจำคำศัพท์ทั้งหมด

ในทางกลับกัน ถ้าเราท่องซ้ำ ๆ มากเกินไป เกิดนาน ๆ ไปแล้วไม่ได้ใช้หรือไม่ได้พบเจอคำศัพท์ดังกล่าวเลย สมองก็จะนึกคำแปลไม่ออก เพราะการท่องหลายครั้งยังเป็นการพร่ำบอกสมองไปในตัวว่า “เราสามารถลืมคำศัพท์นี้ได้นะ” (เพราะย้อนกลับไปท่องใหม่ได้ตลอดเวลา)

2) ท่องทีละน้อย ๆ
สมมติว่าเป็นกลุ่มคำศัพท์ที่พบบ่อยในข้อสอบ TOEIC ประมาณ 1,000 คำ ถ้าเรายัดเยียดคำศัพท์มหาศาลดังกล่าวเข้าไปในสมอง ด้วยการพยายามท่องและจำทั้งหมดในคราวเดียว จะทำให้เรารู้สึกเบื่อ อึดอัด และเครียด เมื่อสมองเครียดก็จะหลั่งสาร Cortisol ออกมา ซึ่งสารตัวนี้จะทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น พยายามท่องศัพท์วันละ 3 ครั้งๆละประมาณ 10 คำก็พอ จากนั้น ก็ให้ทำความเข้าใจศัพท์เหล่านั้นตามสไตล์การเรียนรู้ของตนเอง ก่อนที่จะท่องอีก 10 คำต่อไป จึงจะทำให้เราจำได้ฝังใจ

3) ท่องเป็นหมวดหมู่
วิธีการท่องศัพท์แบบแยกหมวดหมู่จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น เช่น การจำคำศัพท์ที่มีคำแปลเหมือนกันกลุ่มหนึ่ง หรือจำคำศัพท์ที่เขียนและออกเสียงคล้ายกันไว้กลุ่มหนึ่ง แบบนี้จะง่ายต่อการจำมากกว่า

4) ท่องได้ทุกที่
หากอยู่ในบ้าน ให้ลองแปะคำศัพท์ต่างๆที่เราต้องการจะท่อง เอาไว้ตามจุดที่เราแวะผ่านบ่อยๆ เช่น หน้ากระจก โต๊ะทานข้าว หรือแม้กระทั่งกำแพงข้างโถส้วม นอกจากนี้ หากออกไปนอกบ้าน เราก็สามารถอ่านหรือฟังคำศัพท์ในขณะที่กำลังโดยสารรถไฟฟ้าหรือรถแท๊กซี่ รวมถึงเวลาที่กำลังรอทำกิจกรรมอะไรบางอยู่ เพื่อไม่ให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

5) ท่องแล้วลองใช้
การนำคำศัพท์มาทดลองใช้ คือ การทบทวนที่ดีที่สุด โดยอาจจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อนต่างชาติเพื่อแลกเปลี่ยนภาษา หรือการมองหาสิ่งรอบตัวที่เราสามารถทดสอบนำคำศัพท์มาแต่งประโยคให้เข้ากับสิ่งนั้นๆ หรือสภาพแวดล้อมรอบตัวก็ได้ พยายามทำให้เคยชินเป็น ‘นิสัย’ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ มันยังสามารถช่วยให้เรา ‘คิดเป็นภาษาอังกฤษ’ ได้อีกด้วย

  อย่าลืมนำวิธีการท่องศัพท์แบบง่ายๆที่กล่าวมา ไปประยุกต์ใช้กับ ‘กลไกการเรียนรู้ควบคู่ความจำ’ ด้วยนะครับ จะได้เกิดประสิทธิผลในการจำเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังที่ ร.ศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและวิชาการ เคยกล่าวเอาไว้ว่า

การรู้จักตนเองจะช่วยให้เราพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเอง
ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

Share
.