Mandela Effect : หรือโลกคู่ขนานมีอยู่จริง?

2157

คุณเชื่อหรือเปล่าว่าโลกคู่ขนานมีอยู่จริง หรือคุณคิดว่าเป็นเพียงแค่เรื่องที่แต่งขึ้นมา?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็น “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” วันนี้แอดจะพาทุกคนไปรู้จักกับปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เคยจุดประกายความฉงนสงสัยแก่มนุษยชาติว่า

หรือโลกคู่ขนานจะมีอยู่จริงๆ ?

.

ก่อนอื่น ลองมาเล่นตอบคำถามสนุก ๆ กันดีกว่า!


เริ่มกันด้วยตัวละครตัวหนึ่งที่แน่นอนว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก นั่นคือ “Pikachu” จากเกม/การ์ตูนเรื่อง Pokemon นั่นเองดูเผิน ๆ แล้วอาจเป็น Pikachu ตัวเดียวกัน แต่มีสิ่งเดียวที่ต่างไป นั่นก็คือ “หาง” ของเจ้า Pikachu ทีนี้แอดอยากให้ลองมองภาพนี้แล้วตอบในใจดูว่า Pikachu ตัวไหนคือ Pikachu “ตัวจริง” ? (ห้าม search Google เด็ดขาดนะ!!!)

.

.

.

.

เฉลยแล้วนะ

Pikachu ตัวจริงคือ Pikachu ที่มีหาง “สีเหลือง” ทางด้านขวา

ใครที่ตอบถูกก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่คุณมีความจำดีมาก แต่แอดบอกเลยว่ามีหลายคนมากที่ตอบว่า Pikachu ตัวจริงคือ Pikachu ที่มีหางสีดำทางด้านซ้าย (แน่นอนว่าแอดก็คิดว่าเป็นด้านซ้ายเหมือนกัน T____T)


เอ้า ไหนลองอีกทีซิ

ค่ายการ์ตูนที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยดูเรื่อง Bugs Bunny สมัยที่ยังเป็นเด็ก เอาล่ะ ทีนี้คุณคิดว่า Looney Toons หรือ Looney Tunes ที่เป็นชื่อค่ายตัวจริง?

เฉลยแล้วนะคำตอบคือ Looney Tunes ทางด้านขวานั่นเอง

คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท …ว่าแต่ โลโก้คิทแคทอันไหนเป็นของจริงกันนะ???? คำตอบก็คือ

รูปซ้าย! KitKat ที่ไม่มีขีดคั่นตรงกลาง!! 

ว่าแต่ ทำไมถึงมีเหตุการณ์แปลก ๆ แบบนี้เกิดขึ้นกันนะ? ที่จู่ ๆ เราก็เกิดไม่แน่ใจขึ้นมาว่าวัตถุชิ้นไหนเป็นของจริง
ซ้ำร้ายยังตอบผิดทั้งที่มั่นใจเต็มร้อยแล้วแท้ ๆ ???เคยมีใครคนหนึ่งเคยพยายามอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เรารับรู้ได้ถึงความเป็นจริงในอีกมิติคู่ขนานหนึ่ง!?

เป็นโลกที่มี Pikachu หางสีดำ

มี Bugs Bunny จากค่าย Looney Toones

หรือมีขนมยี่ห้อ Kit-Kat ขายอยู่ทั่วไป???

มันจะเป็นไปได้เหรอที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นจริงในอีกโลกหนึ่งที่เดินคู่ขนานไปกับเรา?
คำตอบของคำถามที่ว่า โลกคู่ขนานเหล่านี้มีอยู่จริงไหมนั้น ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด

“แต่มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่จะอธิบายเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้อย่างแน่นอน”

สิ่งนี้เรียกว่า Mandela Effect เป็นปรากฏการณ์ที่จู่ ๆ เราก็มีความทรงจำที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง โดยที่แปลกคือความทรงจำผิด ๆ นี้กลับรู้สึกว่ามันชัดเจนและสมจริงเสียเหลือเกิน!

ที่มาของชื่อ Mandela Effect มาจากเหตุการณ์ที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่ในราว ๆ ปี 2010 พากันตกใจกันยกใหญ่เมื่อได้รู้ว่า “Nelson Mandela” (ผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกาใต้) ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ชาวเน็ตกลุ่มนั้นคิดว่าเขา “เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่อยู่ในคุกเมื่อราว ๆ ปี 1980” ทั้งที่จริง ๆ แล้ว Nelson Mandela “เสียชีวิตลงจริง ๆ ในปี 2013

ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ Fiona Broome ผู้หลงใหลในเรื่องปริศนาอาถรรพ์เริ่มเขียนคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยตั้งชื่อให้มันว่า Mandela Effect (ตามนามสกุลของ Nelson Mandela) เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเกิดจากโลกคู่ขนานที่เวลาเดินคู่กันไปแต่จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันในบางส่วน


ทว่ามันก็เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดเท่านั้นเอง เพราะว่าในทางวิทยาศาสตร์นั้น มนุษย์เราไม่สามารถจัดเก็บความทรงจำไว้เป็นภาพที่ชัดเจนและคงทนได้เหมือนกับรูปถ่าย กลับกัน ความทรงจำของมนุษย์มักถูกปรุงแต่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยจินตนาการในหัวของเราเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะจำอะไรผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงถึงแม้ว่าเราจะคิดว่ามันแม่นยำแค่ไหนก็ตาม

มีผลการวิจัยจากการทดลองหนึ่ง เรียกว่า Deese-Roediger-McDermott (DRM) task paradigm (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26275167/) เป็นการทดลองที่สามารถตรวจจับความทรงจำผิด ๆ ได้ การทดลองมีอยู่ว่า ให้อาสาสมัครเริ่มดูคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่คล้าย ๆ กัน เช่น

ม้าลาย ลิง วาฬ งู ช้าง

จากนั้นผู้ทดลองจะสุ่มคำศัพท์แบบมั่ว ๆ ออกมา แล้วให้อาสาสมัครบอกว่าเป็นคำศัพท์ที่เคยเห็นในตอนแรกหรือไม่ ผลปรากฏว่าอาสาสมัครมีแนวโน้มที่จะรู้สึกคุ้นเคยหรือจำคำศัพท์ที่ “ไม่เคยมีอยู่ในตอนแรก” ได้ โดยคำศัพท์เหล่านั้นที่อาสาสมัครรู้สึกสับสนมักจะเป็นศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับคำศัพท์ที่เคยดูในตอนแรก อย่างเช่น อาสาสมัครจะรู้สึกคุ้นเคยหรือจำได้ว่ามีคำว่า “สิงโต” อยู่ ทั้ง ๆ ที่ผู้ทดลองไม่เคยยกคำว่า “สิงโต” ออกมาให้อาสาสมัครดูเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นั่นหมายความว่า มนุษย์เรามักจะถูกจินตนาการของตัวเองบิดความทรงจำให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง สังเกตได้จากการทดลองข้างต้นที่อาสาสมัครรู้สึกคุ้นเคยกับคำว่า “สิงโต” ที่เป็นคำศัพท์ประเภท “สัตว์ป่า” จนเผลอนึกไปเองว่าเคยเห็นคำศัพท์นั้นอยู่จริง ๆ

หากพูดถึง Mandela Effect แล้ว จะสังเกตได้ว่าเรานั้นล้วนแต่มี “ความทรงจำหลวม ๆ” กับสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่สามารถจำรายละเอียดได้ชัดเจนมากนัก เพราะฉะนั้นพอถูกทำให้ไขว้เขวด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ (เช่นหางสีดำของ Pikachu, สระอูใน Tunes หรือ Toones, และขีดคั่นตรงกลางระหว่าง Kit กับ Kat) เราก็จะสับสนและหันมาพึ่งพาจินตนาการเพื่อ “สร้าง” ความทรงจำต่าง ๆ ขึ้นมาเอง

แต่ต้องบอกไว้ตรงนี้นะว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้วที่จะเผลอเข้าใจหรือจดจำความจริงบางอย่างผิดไปได้ อย่าเพิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองเลยนะ! เพราะงั้น ลองชวนเพื่อนมาเล่นสนุก ๆ ด้วยกันไหมล่ะว่าใครจะตอบถูกมากกว่ากัน! 


Vocabulary

  1. Conspiracy theory (n.) ทฤษฎีสมคบคิด
  2. Memory (n.) ความทรงจำ syn. recollection
  3. Gist memory (n.) ความทรงจำหลวม ๆ ที่รายละเอียดขาดหายไป
  4. False memory (n.) ความทรงจำผิด ๆ
  5. Distorted recollection (n.) ความทรงจำที่ผิดเพี้ยน/บิดเบือน
  6. Fact (n.) ข้อเท็จจริง
  7. Bias (n.) อคติ
  8. Universe (n.) เอกภพ
  9. Multiverse (n.) พหุภพ

เขียนโดย Benyapa Narasiriroek

Share
.