คุณมีชีวิตนอกเหนือจากหน้าที่การงานหรือไม่?

1182

โดย Rob Cross
13 พฤษภาคม 2020

“ฉันยกเลิกการเดินทางไปติดต่อธุรกิจ ทำให้มีเวลาว่าง ฉันจึงกลับไปที่บ้าน ณ วันหนึ่งในฤดูร้อนที่สวยงาม แต่ขณะที่ขับรถไป ฉันจระหนักได้ว่า สมาชิกในครอบครัวของฉันต่างกระจัดกระจายกันไปทำสิ่งต่างๆ และฉันก็ไม่มีเพื่อนคนไหนให้ไปหาเลย รวมถึงงานอดิเรกที่ฉันเคยชอบทำ ฉันนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง เฝ้าแต่คิดว่า ชีวิตฉันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร”

.

เรื่องราวจากผู้บริหารซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงรายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบชีวิตที่ฉันได้พบเห็นจากการทำงานกับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จหลายร้อยคน คือ เมื่อเรียนจบจากวิทยาลัยมาพร้อมด้วยความสนใจในสิ่งต่างๆและเพื่อนๆอีกจำนวนหนึ่ง พวกเขาก็เริ่มเลือกหาอาชีพที่จ่ายค่าจ้างสูงๆ มีสถานะ และสามารถสร้างผลกระทบทางใดทางหนึ่งได้ ชั่วโมงทำงานของพวกเขามักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน การเดินทางไปกลับเพื่อทำงานในแต่ละวัน  ส่งผลให้มีเวลาออกกำลังกายน้อยลง ร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลง รวมถึงอยู่ในโลกแห่งการทำงานที่แคบลงเรื่อยๆและเหลือเพื่อนเพียงไม่กี่คน ตามมาด้วยการซื้อบ้านและการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขาเข้าสังคมน้อยกว่าเดิมและเกิดความกดดันทางการเงินมากขึ้น ทำให้หน้าที่การงานกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตของพวกเขามากขึ้น
.
.
.

เมื่อมาถึง ณ จุดนี้ ผู้บริหารเหล่านี้จะซื้อและย้ายไปอยู่ในบ้านที่ใหญ่กว่า ในย่านที่ดีขึ้น หรือในย่านโรงเรียนที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันในฐานะหัวหน้าครอบครัวที่ดี ในบางครั้งพวกเขาอาจอัพเกรดชีวิตในทำนองนี้ถึงสองรอบ ไม่ว่าในกรณีใดๆ นี่คือขั้นตอนที่นำพวกเขาไปสู่หอคอยที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ในที่ซึ่งไม่มีเวลาให้กับเพื่อนๆ (บางครั้งรวมถึงครอบครัวด้วย) และหน้าที่การงานกลายมาเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตทั้งหมดของพวกเขาเป็นเวลาประมาณ 5-8 ปี พวกเขาหลุดออกจากกลุ่มและกิจกรรมอันสามารถช่วยให้พวกเขารับมือกับความเครียดที่พวกเขาต้องเผชิญ หากเป็นกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะ เช่น การเล่นเทนนิสหรือวิ่งออกกำลังกายกับเพื่อนๆ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะไล่ตามผู้อื่นได้ทัน
.
.
.

หากโชคดี พวกเขาอาจจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความตระหนักรู้ที่ถูกส่งมาจากเบื้องบน เหมือนเพื่อนของฉันคนหนึ่งในซิลิคอนวัลเลย์ หลายๆคนไม่ได้เป็นเช่นนั้น และชีวิตก็ลงเอยด้วยความเหนื่อยล้า หย่าร้าง และอยู่ในภาวะวิกฤติ

ฉันและเพื่อนร่วมงานได้ติดตามศึกษาชีวิตของคนเหล่านั้นมานานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา และเราสังเกตว่า มีบางคนในกลุ่มที่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของวงจรอุบาทว์ดังกล่าว คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงทั้งในแง่ของหน้าที่การงานและในแง่ของคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น เราจึงใช้เวลาในการค้นหาสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถจัดการตัวเองให้ประสบความสำเร็จด้านอาชีพและยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่สร้างความสุขให้แก่พวกเขาได้ในเวลาเดียวกัน
.
.
.
สิ่งที่เราค้นพบคือ พวกเขามักจะฝึกฝนและรักษาความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับผู้คนในสอง สามหรือสี่กลุ่ม นอกเหนือจากในที่ทำงาน เช่น การเล่นกีฬา ทำงานอาสาสมัคร มีส่วนร่วมในชุมชนหรือกลุ่มทางศาสนาและชมรมต่างๆ เช่น ชมรมคนรักหนังสือหรือสโมสรอาหารค่ำ ในทางตรงกันข้าม ผู่ที่ตกอยู่ในการแต่งงานครั้งที่สองหรือสามของพวกเขา ชีวิตไม่ราบรื่นจนถึงขั้นวิกฤต หรือใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆที่ทนพวกได้ตลอดเวลา เป็นผู้ที่ปล่อยให้ชีวิตของตนเองกลายเป็นชีวิตที่มีมิติเดียว นั่นคือ งาน ความสำเร็จในหน้าที่การงานของพวกเขากลายมาเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิต และค่อยๆนำพวกเขาออกจากกลุ่มก้อนและกิจกรรมต่างๆโดยสิ้นเชิง
.
.
.

ด้วยความตั้งใจดีที่สุด ชีวิตพวกเขาตกอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร วิธีที่นิยมใช้กันในการเข้าข้างตัวเองเกี่ยวกับการเลือกที่จะมีชีวิตด้านอาชีพการงานเพียงด้านเดียว คือ การมองว่าตนเองเป็นผู้ดูแลครอบครัว กล่าวคือ การคิดว่าเรากำลังเสียสละเพื่อครอบครัวของเรา ไม่ใช่ว่าครอบครัวเป็นตัวเลือกที่ไม่ดี ตรงกันข้าม มันเป็นจุดยึดที่สำคัญในชีวิตของเรา แต่เมื่อทั้งหมดที่เราทำคือการทำงานเพื่อครอบครัวและปล่อยให้สิ่งนั้นมากำหนดตัวตนของเรา จริงๆแล้วเราไม่ได้ทำเพื่อครอบครัวในลักษณะที่เราสามารถจะทำได้หากเรารักษาความสัมพันธ์ทางสังคมด้านอื่นๆ สิ่งที่ขัดแย้งกันก็คือ การโฟกัสไปที่การทำงานเพื่อครอบครัวเพียงอย่างเดียว ได้แย่งชิงคุณภาพชีวิตที่ดีไปจากเราและทำให้ชีวิตเราตกอยู่ในความเสี่ยง
.
.
.

คุณอาจรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ราบรื่นและมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ที่หลายคนกำลังคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความหมายและเป้าหมายชีวิตกันมากขึ้น แต่คุณสามารถเปลี่ยนทิศทางและสร้างกิจกรรมหรือการเชื่อมต่อทางสังคมที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคุณและคนที่คุณรักได้

ในการนี้ ฉันมีสามแนวคิดเบื้องต้นมานำเสนอ

1. เปลี่ยนกิจกรรมหนึ่งเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์อันมีจุดประสงค์ที่หลากหลาย


จุดประสงค์ในชีวิตของคนเราถูกสร้างขึ้นผ่านปฏิสัมพันธ์ทั้งในและนอกแวดวงการทำงาน สำหรับหลายๆคน งานอาจทำให้ชีวิตรู้สึกมีเป้าหมาย แต่ลักษณะของประสบการณ์ดังกล่าวมากกว่า 50% มาจากความสัมพันธ์รอบตัวเรา วัตถุประสงค์ของชีวิตไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหน้าที่การงาน  แต่ยังอยู่ในเครือข่ายแวดวงการงานด้วย ผู้ที่ทำงานในองค์กรอันมีเกียรติ เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยารักษาชีวิตผู้อื่น ช่วยเหลือเด็กๆ ให้การศึกษาแก่สังคม อาจจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่มีความสุขที่สุดก็ได้ ในขณะที่ผู้ที่ประกอบอาชีพธรรมดาๆทั่วไปกลับรู้สึกว่าชีวิตมีจุดหมายมากกว่า ทั้งความสัมพันธ์ในที่ทำงานและความสัมพันธ์ในชีวิต ต่างก็เป็นตัวสร้างเสริมจุดหมายของชีวิต องค์ประกอบของความสัมพันธ์ในแวดวงการทำงานที่ทำให้เรารู้สึกถึงเป้าหมายของชีวิต ได้แก่:

  • ผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร: การทำงานให้แก่ผู้นำหรือวิสัยทัศน์ที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณธรรมและใส่ใจต่อความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน
  • เพื่อนร่วมงาน: การร่วมสร้างอนาคตที่มีความหมายและมีส่วนร่วมกับผู้ที่มีค่านิยมแบบเดียวกัน
  • ทีมงานและผู้ให้คำปรึกษา: การสร้างบริบทสำหรับเพื่อนร่วมทีม เพื่อนร่วมงาน และผู้ที่ต้องการคำปรึกษา เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโต แบ่งปันการเรียนรู้ มีความโปร่งใสและอ่อนไหวต่อสิ่งรอบตัว
  • ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: การได้รับความเห็นชอบจากผู้บริโภคหรือลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาโรคหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น


องค์ประกอบของความสัมพันธ์ในชีวิต ที่ทำให้เรารู้สึกถึงเป้าหมายของชีวิต ได้แก่:

  • จิตวิญญาณ: การมีปฏิสัมพันธ์ด้านศาสนา ดนตรี ศิลปะ บทกวี และสุนทรียภาพในด้านอื่นๆของชีวิตที่ช่วยให้เรามีมุมมองต่อชีวิตการงานในบริบทที่กว้างขึ้น
  • หน้าที่พลเมืองและจิตอาสาสมัคร: การมีส่วนร่วมในกลุ่มที่มีความหมายสร้างประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต ในแง่ของการให้และนำคุณไปสู่การติดต่อกับผู้คนที่มีความหลากหลาย แต่มีแนวคิดเดียวกัน
  • เพื่อนและชุมชน: การเชื่อมสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมองค์รวม เช่น การเล่นกีฬา การร่วมชมรมคนรักหนังสือหรือสโมสรอาหารค่ำ รวมถึงความสัมพันธ์กับผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆ
  • ครอบครัว: การดูแลครอบครัวและการสร้างแบบจำลองพฤติกรรมที่มีคุณค่า เช่นเดียวกับการรักษาเอกลักษณ์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว



จุดประสงค์ในที่นี่ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนชีวิตของคุณและอุทิศให้กับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เราเพียงต้องการเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนเพียงกิจกรรมเดียว กิจกรรมไหนหรือ? ลองใช้แบบทดสอบด้านล่างนี้ในการตัดสินใจเลือก


จากภาพด้านบน ขั้นแรก ให้คะแนนเต็ม 100 แก่สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกถึงจุดหมายของชีวิตมากที่สุด ส่วนด้านใดที่คุณไม่ได้ให้คะแนนเต็ม 100 ก็ถือเป็นด้านที่สามารถเพิ่มมิติให้กับชีวิตของคุณได้


ขั้นตอนที่สอง ในช่องว่างตรงกลาง ให้ระบุหนึ่งกิจกรรมที่ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงแล้ว อาจมีผลกระทบมากที่สุดกับชีวิตในด้านต่างๆ หากคุณยังไม่รู้สึกชัดเจนพอ ลองนึกถึงความสนใจในอดีตของคุณ เช่น การเล่นกีฬา งานอดิเรก และความหลงใหลในอะไรบางอย่าง สิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นก้าวแรกในการค้นพบกิจกรรมใหม่ๆ เมื่อคุณระบุลงไปแล้ว ให้ไขว่คว้าเป้าหมายดังกล่าวด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้อง สร้างกฎเหล็กขึ้นมาให้ตัวเอง และชักชวนให้สมาชิกในครอบครัวคุณมาร่วมสนับสนุนภารกิจใหม่ของคุณ

เมื่อคุณเปิดรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเข้ามาในชีวิตคุณแล้ว ลองทำมันซ้ำอีกครั้งหรือสองครั้ง คุณจะค้นพบสิ่งเดียวกับคนอื่นๆที่เคยผ่านแบบฝึกหัดนี้มาก่อนแล้วว่า ข้ออ้างที่คุณใช้ในการตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก ก็เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น คุณยังมีเวลาเหลือและชีวิตการทำงานของคุณจะปรับเข้าหาคุณเองหากคุณตั้งใจจริง
.
.
.

2. เอาใจใส่กับช่วงเวลาเล็กๆน้อยๆ


พยายามมีส่วนร่วมอย่างมีจุดมุ่งหมายให้มากยิ่งขึ้น แม้จะดูเหมือนว่าคุณมีเวลาน้อยเพียงน้อยนิดในการที่จะบรรลุความสำเร็จเรื่องใหญ่ๆ จงมุ่งเน้นไปที่การสร้างรูปแบบในปฏิสัมพันธ์แต่ละด้านอย่างที่คุณต้องการให้มันเป็น แทนที่จะปล่อยให้มันมากำหนดคุณ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถที่จะ:

  • ใส่ใจในแต่ละ “ขณะเวลา”: เพียงแค่แสดงให้ผู้อื่นเห็นในช่วงเวลาสั้นๆว่า คุณเชื่อในตัวพวกเขา หรือประคับประคองพวกเขาขึ้นมา หรือช่วยให้พวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะช่วยคุณได้มากแล้ว พยายามหาจุดที่เชื่อมโยงกันระหว่างคุณกับพวกเขาและเข้าใจแรงบันดาลใจของพวกเขา เพียงแค่เปลี่ยนวิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้้อื่น ก็สามารถช่วยให้คุณใช้เครือข่ายที่มีอยู่เดิม ในการเติมเต็มความรู้สึกของการมีจุดหมายได้แล้ว

  • สนทนาเพื่อค้นหาสิ่งที่ควรค่าแก่การทำอยู่เสมอ: ผู้ที่หลีกเลี่ยงช่วงเวลาวิกฤตในชีวิต มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิต ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ใช้วิธีจัดตั้งกลุ่มบุคคลที่เธอสามารถวางใจได้ในช่วงเวลาที่เธอประสบปัญหา กลุ่มดังกล่าวอาจดูแตกต่างจากกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาทั่วไป คือ มีทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัยจากทุกสาขาอาชีพของชีวิต แต่พวกเขาก็สามารถช่วยสะท้อนให้เธอเห็นลักษณะของการเอาใจใส่ในแต่ละช่วงเวลา

  • กลับไปสู่ความสัมพันธ์: ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมักจะเปลี่ยนรูปแบบไปในช่วงสถานการณ์แห่งความยากลำบาก วิธีที่คุณใช้จัดการช่วงเวลาดังกล่าวกับผู้อื่น ความสามารถในการมองเห็นความเป็นไปได้และการแก้ปัญหาเชิงรุก รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจกับผู้อื่น จะช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แถมยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์เหล่านั้นไปในตัวด้วย

.
.
.

3. โน้มเข้าหาช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านอย่างกล้าหาญ


จงมองช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเป็นเสมือนโอกาส ไม่ใช่ภัยคุกคาม เพื่อค้นหาตัวคุณเองในเวอร์ชั่นใหม่และดีกว่าเก่า มองหาสิ่งที่ทำลายจุดมุ่งหมายและสลัดมันทิ้งไป จากนั้นจึงหันไปใส่ใจในกิจกรรมและคนกลุ่มใหม่ที่คุณต้องการมีส่วนร่วม ซึ่งคุณรู้สึกว่าเป็นองค์ประกอบเชิงบวกกับตัวตนที่มีจุดมุ่งหมายของคุณเอง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จงดำรงตนอยู่กับมัน แม้ว่ามันอาจจะดูน่ากลัวหรือยากลำบาก
.
.
.

ลองมาฟังเรื่องราวของผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยีรายหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของเธอมากว่า 20 ปีและกลายมาเป็นคนในแบบที่เธอไม่ได้คาดคิด ผลกระทบของการทำงานที่มีต่อสุขภาพและอัตลักษณ์ของเธอ ได้ทำให้เธออ่อนระโหยลงอย่างช้าๆ เธอจึงยอมลาออกจากงานที่หลายๆคนรู้สึกอิจฉา เธอตัดสินใจทำเพื่อสุขภาพของตัวเองและได้ลองฝึกโยคะ   เธอรู้ว่าตัวเองเป็นคนจับจด เธอจึงสัญญากับสามีของเธอว่า จะไปลองฝึกแค่สามครั้งเท่านั้น
.
.
.
ในครั้งแรก เธอรู้สึกเอือมระอากับบรรดาคนที่ดีอย่างออกหน้าออกตาทั้งหลายที่เธอได้พบเห็น  ในครั้งที่สอง เธอแอบเย้ยหยันผู้ฝึกสอนที่ดูท่าทาง “แปลกประหลาด” และ “เคร่งลัทธิ” ส่วนครั้งที่สาม เธออดทนได้นานกว่าเดิมเล็กน้อย แต่สุดท้ายเธอก็รู้สึกว่าพอกันที ตอนที่กำลังจะจบคลาสนั้น ผู้ฝึกสอนได้เดินเข้าไปแตะศีรษะของทุกคนในห้อง
.
.
.

เพื่อนของฉันประหลาดใจมากที่ตัวเธอเองร้องไห้จนน้ำตาไหล ในตอนนั้นเธอตระหนักว่า มันเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาอันยาวนานที่เธอรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและยอมแสดงความอ่อนแอออกมา เธอล้มลงจากท่าโยคะและรู้สึกเหนื่อยล้ากับสิ่งที่ดูเหมือนจะง่าย แต่เธอก็กล้าเล่าเรื่องนี้ให้บรรดาคนแปลกหน้าในห้องนั้นฟัง นั่นไม่ใช่บุคลิกด้านที่คนในบริษัทของเธอจะยอมรับได้ เมื่อเวลาผ่านไป โยคะได้กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตเธอและสามีของเธอ มันเป็นตัวกำหนดสิ่งต่างๆในชีวิตทางสังคมและแม้กระทั่งวันหยุดพักผ่อนของทั้งคู่ แต่สิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากเธอไม่โน้มนำตัวเองเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของชีวิต ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมนั้นได้เพิ่มมิติและมุมมองให้กับชีวิตของเธอ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่เธอปล่อยให้หน้าที่การงานเป็นตัวกำหนดชีวิต ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นแหล่งพักใจของเธอและช่วยสร้างความกล้าหาญให้เธอในการที่จะใช้ชีวิตตามแบบของตนเอง มากกว่าที่จะเป็นไปตามนิยามความสำเร็จของผู้อื่น
.
.
.

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวของผู้บริหารคนนี้ คือ

  • เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องหาเหตุผล: การเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกสบายใจหรือไม่ก็เมื่อคุณรู้สึกว่า ต้องเร่งรีบเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งไป จงโน้มนำตัวเองเข้าหามันแทน การก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านเสียแต่เนิ่นๆและยังพอมีทางให้เลือก จะช่วยให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ผ่านทางกิจกรรมที่คุณชอบ (เช่น กิจกรรมทางศาสนาหรือกีฬา) และเริ่มกิจกรรมใหม่ๆอย่างน้อยหนึ่งกิจกรรม

  • โฟกัสไปที่ตัวตนที่ดลบันดาลใจ พฤติกรรม และความสัมพันธ์ของคุณ: ใช้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อไตร่ตรองถึงเป้าหมายและแรงบันดาลใจของคุณ ที่ถูกกำหนดโดยสังคมหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ใคร่ครวญถึงการทำงานในแบบที่คุณต้องการหรือการร่วมกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งกับผู้อื่น เพื่อที่จะเพิ่มมิติและวิสัยทัศน์ให้กับชีวิตของคุณ

  • อย่าปล่อยให้ความตกตะลึง ดึงคุณออกจากค่านิยมส่วนตัว: อย่าปล่อยให้ปฏิกิริยาของคุณเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีหรือยืดเวลาออกไปให้พ้นจากสิ่งที่คุณต้องการ บ่อยครั้งที่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการชั่วคราว กลับกลายมาเป็นความคาดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณ


แน่นอนว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ประสบการณ์ของเรามักเกิดจากการสร้างสรรค์ของเราเอง ไม่เคยมีช่วงใดในประวัติศาสตร์ที่เราจะมีความสามารถมากขึ้นในการกำหนดสถานการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราทำ


อย่ายอมยกธงขาว หากชีวิตสูญเสียการควบคุม คุณต้องดึงมันกลับมา ฉันได้พบเห็นผู้ที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดีมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

Share
.