เริ่มที่ประโยค (Sentence)

1557

“เอาอีกแล้ว เริ่มด้วยประโยคอีกแล้ววว! เสียงน้องๆบางคน แว่วมาตามสายลม

นั่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะภาษาของชนชาติไหนๆ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ทำความรู้จักผ่านประโยคกันก่อนทั้งนั้น แต่ไม่ต้องห่วงครับ บทนี้เอาแค่คร่าวๆก็พอ เดี๋ยวเราค่อยไปเรียนรู้รูปแบบประโยคที่ซับซ้อนมากกว่านี้ (Part of speech) ในบทต่อๆไป

.

….เพื่อที่จะไม่เครียดกันเกินไป



ถ้าเราจะสอนคนที่เพิ่งเริ่มดูฟุตบอลให้ดูแล้วสนุกเหมือนเรา แทนที่จะเข้าเรื่องดิวิชั่น 1 หรือพรีเมียร์ลีกตั้งแต่เริ่มต้น บลา บลา บลา….เราควรจะมาอธิบายตำแหน่งและองค์ประกอบต่างๆของกีฬาฟุตบอลก่อน ดีมั้ย?

ตัวอย่างเช่น ในทีมฟุตบอลหนึ่งๆ มีตำแหน่งอะไรบ้าง (มิดฟิลด์, ศูนย์หน้า, ผู้รักษาประตู ฯลฯ) อยู่ตรงไหนของสนาม (หน้า กลาง ซ้าย ขวา ฯลฯ) ฯลฯ เป็นต้น

ประโยคส่วนใหญ่ของภาษาอังกฤษ ก็จะประกอบด้วยผู้เล่นหลักดังนี้:

“ประธาน (S) – เราจำตัว S ใหญ่ ง่ายๆว่าหมายถึง ประธาน เพราะมาจากคำว่า Subject”

นึกภาพก็เปรียบเสมือน ‘ประธานสโมสรฟุตบอล’ นั่นเอง คือ ถ้าขาดประธานไปเสียคนนึงแล้ว ทุกอย่างก็จบ พับเก็บโครงการไปได้เลย ไม่ครบทีม ไม่ถือเป็นประโยคอีกต่อไปแล้ว 

ส่วนจะหยิบเอาคำนาม (N.) หรือเชิญ คำสรรพนาม (Pron.) มาทำหน้าที่เป็นประธานก็ได้ ขอให้ประโยคหนึ่งๆ มีประธานก็พอ

…..ต่างกันตรงที่ว่า ประธานของสโมสรฟุตบอล อาจมีได้คนเดียวเท่านั้น แต่ประธานของประโยคภาษาอังกฤษ จะมีกี่คนหรือกี่สิ่งก็ได้ ขอเพียงใช้ ‘and’ หรือเครื่องหมาย ‘,’ มาเชื่อมต่อกัน เช่น

“Papa, Mama, and Satawee are going to the supermarket.” – ปะป๊า หม่าม้า และศตวีย์ กำลังจะไปซูเปอร์มาร์เก็ตกัน



ถัดมา คือ กริยา (Verb) – กริยามีหลายแบบ เดี๋ยวในบทต่อๆไป พี่ๆน้องๆจะได้เห็นเอง แต่ตอนนี้ รู้เพียงว่า กริยาแปลตรงตัวเลย ก็คือ ‘การกระทำ’ นั่นเอง 

เช่น ประธานจะกัด เตะ ต่อย ตบ หรือทำอะไรก็ตามต่อนักฟุตบอลในสโมสร การกระทำเหล่านั้นนั่นแหละ คือ คำกริยา โดยจำอักษรย่อๆว่า ‘V’



สุดท้าย คือ กรรม

“เราจำง่ายๆว่า กรรม คือ ตัว O เพราะมันย่อมาจากคำว่า Object

เมื่อมีการกระทำ ก็ต้องมีผู้รับกรรม เช่น หากกล่าวถึงนักฟุตบอล นักฟุตบอลจะเตะอะไรล่ะ? ก็ต้องเตะฟุตบอล 

เจ้าฟุตบอลนี้เอง คือ กรรม เพราะมันทำหน้าที่รองรับการกระทำ คือ ถูกเตะ

กรรมก็เหมือนกัน จะเป็นคำนามหรือคำสรรพนาม ก็กลายมาเป็นกรรมได้ทั้งสิ้น ลองว่าต้องมาถูกวางอยู่ท้ายประโยคแล้วล่ะก็ ส่วนใหญ่มาเพื่อรับกรรมกันหมดนั่นแล เช่น

I kicked Satawee – ฉันเตะศตวีย์ (ศตวีย์เป็นกรรม)

She kissed him – หล่อนจูบเขา (เขานี่ก็เป็นกรรม จะหมายถึงใครก็ไม่รู้ล่ะ เอาเป็นว่า ทำหน้าที่รองรับการกระทำไป)



TIPS: 

ในประโยคภาษาอังกฤษใดๆ ถ้าไม่มีกรรม ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ไปสู่นิพพานนะครับ….เพียงแต่เราจะเรียกประโยคลอยๆเหล่านั้นว่า “วลี” (Phrase) ซึ่งไม่มีสาระแก่นสารอันใด

ตัวอย่างเช่น 

วลีที่ว่า 

I love ฉันรัก, 

He likes เขาชอบ, 

They (Birds) fly พวกมัน (ฝูงนก) บิน, 

Peter walks ปีเตอร์เดิน เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจำไว้ คือ คำนามสามารถนำมาใช้เป็นได้ทั้งประธานและกรรมในประโยค แต่หากเป็นคำสรรพนาม เมื่อจะทำหน้าที่เป็นกรรม รูปแบบของคำจะเปลี่ยนไป เช่นคำว่า They เมื่อทำหน้าที่เป็นกรรมในประโยค จะต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า Them เป็นต้น

นั่นล่ะครับ ถ้าจะให้อธิบาย ‘ประโยคส่วนใหญ่’ ในภาษาอังกฤษภาพรวมทั้งหมด ก็มีเพียง ‘S + V + O’ แค่นั้นเอง

อย่างไรก็ดี ในบทถัดๆไป ในเรื่องของ Part of Speech (อ่านว่า พาร์ท ออฟ สปีช) เดี๋ยวเราจะไปเจาะลึกประโยคแบบซับซ้อน อันมีองค์ประกอบอื่นๆเพิ่มเข้ามา รวมถึงรูปแบบอื่นๆของ Verb (V) และ Object (O) กันอีกที

แต่ตอนนี้ ลองมาทบทวนกันสักหน่อย กับคำถามทดสอบด้านล่าง

*สำหรับใครที่กำลังมองหาคอร์สเรียนออนไลน์ สามารถกดปุ่ม inbox มุมขวาล่าง ทักสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยนะครับ*



คำถามทดสอบ:

1) คำใดไม่สามารถทำหน้าที่ ‘ประธาน’ (S) ของประโยคได้

a. He             b. Cat            c. Play          d. Somsri  


2) คำใดเป็นกริยา (V)

a. School             b. Swim            c. Animal          d. We

3) คำใดสามารถเป็นได้ทั้งประธาน (S) และกรรม (O) ของประโยค

a. She             b. Banana           c. Fly          d. They  


เฉลย

1. (ข้อ c.) เพราะเป็นคำกริยา ส่วนข้ออื่นๆ เป็นนามและสรรพนาม ซึ่งสามารถทำหน้าเป็นประธานได้ทั้ง 2 รูปแบบ 

2. (ข้อ b.) เพราะคำกริยา คือ การกระทำ ซึ่ง Swim = ว่ายน้ำ อันถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งนั่นเองครับ

3. (ข้อ b.) เพราะ Banana เป็นคำนาม แต่ She และ They เป็นสรรพนามซึ่งต้องเปลี่ยนรูปคำศัพท์ไปเมื่อทำหน้าที่เป็นกรรม ส่วน Fly เป็นคำกริยาซึ่งไม่สามารถทำหน้าเป็นประธานได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ

Share
.