ความสำคัญของภาษาอังกฤษในยุค Covid 19

1579

จากสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบให้กับหลาย ๆ ท่าน รวมถึงผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ จนถึงระดับพนักงาน หรือลูกจ้างที่ทำให้รู้สึก insecure (ไม่ปลอดภัย-ไม่มั่นใจ) เพราะ comfort zone ที่เคยมี กลับทำให้หวั่นวิตกกันมากมาย

ครูณิชาทนแรงกระแส  New Normal ไม่ไหว จึงลองขุดข่าวในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมาดูก็พบว่าหลาย ๆ ธุรกิจ หลาย ๆ บริษัทนั้นปิดแบบกู่ไม่กลับ บ้างก็เขียนไว้ว่า Temporarily closed ก็คือปิดแบบชั่วคราว ตรงนี้หลายคนก็เริ่มไม่มั่นใจเท่าไหร่แล้วว่าชั่วคราวนี้จะนานเพียงใด … หลายคนที่เดินทางตามหาความฝันไปเมืองนอกเมืองนา (ที่ยังไม่ได้กลับ) ก็คงรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ในเมื่อ Daily Expenses ยังคงมีตลอด ค่ากิน ค่าเช่า ฯลฯ

.

ความไม่มั่นใจเหล่านี้เกิดจากอะไรขึ้นบ้าง ความไม่รู้ข่าวสาร ติดตามข่าวสารไม่ชัดเจนครอบคลุม อาจจะอ่านได้บ้าง เสพสื่อไปแล้วยังขาดความเข้าใจในความลึกซึ้งของเนื้อหา (จากด้วยคำขยาย—คำวิเศษณ์/คำคุณศัพท์ต่าง ๆ)

ทักษะการฟังที่เกือบจะดีแล้วแต่ยังไม่ค่อยมั่นใจ บางคำฟังทัน ฟังไม่ทัน เรียกได้ว่าฟังไม่ค่อยได้ศัพท์ (รู้ความบ้าง ไม่รู้บ้าง)

ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่รู้จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน บางคนก็เริ่มมองหาลู่ทางเอาตัวรอดอยู่บ้างแล้ว เพื่อสร้าง comfort zone แห่งใหม่ให้กับตัวเอง เอาไว้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตต่าง ๆ

แต่การจะสร้างโอกาสจากวิกฤติ (ที่รุนแรง) แบบนี้ เราต้องมีองค์ความรู้ที่จะเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปด้วย

อาวุธที่ว่านั่นก็คือ “ภาษา”

และภาษาที่คนใช้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็คือภาษาอังกฤษ ที่ตอนหลังได้ถูกเรียกเป็น international language คือเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ ในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ช่องทางใหม่ ๆ

และทักษะภาษาอังกฤษนี้ที่ควรรู้ก็จะประกอบไปด้วย

  • ไวยากรณ์ หรือที่เรียกว่า Grammar อันเป็นส่วนสำคัญพื้นฐานที่สุดที่ควรรู้ก่อนจะนำไปสู่บทต่อไป โดยจะทำให้เราเข้าใจภาพรวม องค์ประกอบโดยรวมในการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง (เมื่อถูกต้องชัดเจน การติดต่อสื่อสารทางธุรกิจก็จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้มาก)
  • การพูด / ออกเสียง ในหลาย ๆ สถานการณ์จะมีรูปแบบการสนทนาที่ค่อนข้างจะเป็นรูปแบบ (patterns) ของมันเอง เช่น การรับโทรศัพท์ ที่เราจะเจอ การขอสาย การบอกให้รอสักครู่ การขอให้ทิ้งข้อความไว้ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ ฝึกได้ และหากเรามีพื้นฐานที่ดี การเรียนคอร์สอื่น ๆ ประกอบเราก็จะสามารถนำเรื่องที่เรียนไปประยุกต์กับเหตุการณ์อื่น ๆ หรือการโต้ตอบที่เป็นสไตล์ของตัวเราเองได้
  • การเขียน การเขียนส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนเชิงธุรกิจ (แบบทางการ — formal) เพราะเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าส่วนใหญ่เราจะใช้ email ติดต่อกับบุคคลที่ไม่ค่อยรู้จักมักคุ้น หรือการติดต่อทางธุรกิจมากกว่าการแช็ตสด ๆ (หลายคนถึงกับหลีกเลี่ยงการพิมพ์แช็ตเลยเพราะกลัวการผิดพลาด และการโต้ตอบที่ต้องตอบช้าพอสมควรเพราะมัวแต่ตรวจสอบคำศัพท์และไวยากรณ์อยู่— หรือบางคนอาจแอบใช้ translate แปลทีละประโยคด้วย) การเขียนจดหมายในภาษาไทยก็มีรูปแบบ การเขียน email เป็นภาษาอังกฤษก็มีรูปแบบเช่นกัน และก็เช่นเดียวกับการพูด สามารถเรียนรู้เป็นรูปแบบ (patterns) ได้เช่นกัน เพราะแต่ละเหตุการณ์จะใช้คำ ข้อความ หรือรูปประโยคที่แตกต่างกันไม่มาก (อย่างตอนที่ครูณิชาเรียนเนี่ย I’m looking forward to hearing from you. เนี่ยแทบจะมีในจดหมายเกือบทุกประเภทเลยน)
  • การฟัง ทักษะนี้ถูกลำดับไว้ที่หลังสุดเพราะการฟังสามารถหาฝึกฝนได้ตามสื่อทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องเสียสตางค์สักแดง ตัวอย่าง เช่น ในภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่เราสามารถหาดูได้ตาม Application ต่าง ๆ แต่สิ่งที่มุ่งเน้นก็คือ ทักษะการฟังจะเข้าใจได้ง่ายต้องประกอบไปด้วย ความเข้าใจในหน่วยเสียง (คอร์สออกเสียงของครูเมย์) ที่จะทำให้รู้ว่าการออกเสียงภาษาอังกฤษนั้นแท้จริงแล้วออกเสียงอย่างไร เมื่อเราเข้าใจการออกเสียงอย่างถูกต้อง เราก็จะสร้างเสาอากาศรับสัญญาณภาษาต่างประเทศ (คล้ายๆ กับ ระบบ Speech Recognition ในสมองเรา) ว่าคำที่เขาออกเสียงนี้คืออะไร และแน่นอน ถ้าเราฝึกคำศัพท์มากพอ รูปประโยค โครงสร้างต่าง ๆ มากพอเราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

สุดท้ายแล้วทักษะต่าง ๆ ในการใช้ภาษาก็มักจะเริ่มจากพื้นฐานที่มั่นคง เมื่อพื้นฐานของเราดี การต่อยอดไปทางด้านทักษะอื่น ๆ ก็ง่ายดาย และถึงตอนนั้น ภาษาก็จะนำโอกาสมาให้เราได้มากมาย เช่น การติดต่อ ต่อรองการเป็น dropshipper โดยใช้เครดิตได้มาก ๆ หรือได้ราคาที่ดีมาก ๆ เพื่อให้การตั้งราคาไม่สูงมาก หรือการขอใบเสนอราคาต่าง ๆ เพื่อนำไปเสนอบริษัทต่าง ๆ รวมถึงการหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมในการพัฒนาทักษะอาชีพของตนให้ดีขึ้น เรียกว่า Expertise ทักษะตนเองให้มากขึ้นจนจะเกิดเป็นเทรนด์กระแสธุรกิจใหม่ ขึ้นมาได้อีกมากมาย

ปฏิเสธไม่ได้อีกว่าสื่อการเรียนการสอนในสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ (แม้กระทั่งการปลูกพืช) ที่น่าสนใจก็มีตำราเป็นภาษาอังกฤษมากมาย ถ้าหากเราไม่ได้ภาษาอังกฤษ ก็เหมือนกับเสียโอกาสตรงนี้ไป….

Share
.