1. เขียนระบายความรู้สึก
ไม่มีอะไรที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราเขียนออกมา ได้ดีไปกว่าการเขียนในเรื่องที่คุณกำลังรู้สึกคับข้องใจหรือสะเทือนอารมณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว เรื่องผัวๆเมียๆ เรื่องเกี่ยวกับคนข้างบ้าน ไปจนถึงความคิดเห็นส่วนตัวทางศาสนาและการเมือง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่พูดออกมาให้ใครฟังไม่ได้
ดังคำกล่าวที่ว่า…
“ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า”
ครั้นจะให้เก็บไว้หัวคนเดียว เดี๋ยวจะอกแตกตายซะก่อน ดังนั้น คุณจะเขียนเรื่องเหล่านั้นออกมาได้อย่างพรั่งพรูและรวดเร็ว โดยการใช้เทคนิคการเขียนทั้ง 2 ข้อต่อไปที่เรากำลังจะกล่าวถึง
2. เขียนไปเลย ไม่ต้องกลัวผิด
ใช่ครับ เขียนออกมาจากใจไปเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องแกรมมาร์ ไม่ต้องกลัวว่าจะสะกดคำผิด
จำไว้ว่า คุณไม่ได้กำลังเขียนวิทยานิพนธ์หรือนวนิยาย แต่คุณกำลังฝึกให้ตัวเองหัดเขียนภาษาอังกฤษ
“….แล้วถ้าคิดคำศัพท์ไม่ออก ต้องทำอย่างไรล่ะ”
ไปอ่านต่อที่ข้อ 3 เลยครับ
3. เขียนบางคำเป็นภาษาไทย
คำไหนที่คุณนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ออก ให้เขียนเป็นภาษาไทยเอาไว้ก่อน และโดดข้ามไปเขียนภาษาอังกฤษต่อที่คำถัดไปเลย
คุณอาจจะนึกไม่ออกทั้งประโยคเลยก็ได้ ซึ่งวิธีแก้ก็ง่ายๆ คือ ให้เขียนประโยคนั้นเป็นภาษาไทยไปก่อนเช่นกัน
จากนั้น เมื่อมีเวลาว่างๆ หรือเขียนเสร็จทั้งหมดเท่าที่อยากจะเขียนแล้ว ให้คุณไปค้นหาคำศัพท์จากกูเกิ้ลหรือดิคชันนารี่ แล้วก็กลับมาเปิดสมุดบันทึก เพื่อแก้ไขจากคำภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
4. เขียนในที่ๆเป็นส่วนตัว
หาสถานที่สงบๆ เป็นส่วนตัว ก่อนที่จะเขียน เพราะหากคุณเขียนในขณะที่มีคนอื่นๆป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นด้วยล่ะก็ Flow ในการเขียนของคุณจะหมดลง และคุณจะเขียนไม่ออก ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการแรก อย่างที่บอกไว้ในข้อ 1 ครับว่า เรื่องที่คุณควรเขียน มันเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งอาจทำให้คุณมัวแต่ระแวงว่า ใครจะเดินผ่านมาและแอบอ่านอยู่ข้างหลัง จึงทำให้คุณอาจเขียนไม่ออกเลย
ประการที่สอง นอกจากเรื่องที่คุณจะเขียนแล้ว คุณยังอาจจะรู้สึกกังวลหรือเขินอาย เพราะไม่อยากให้ใครมาเห็นคุณเขียนภาษาอังกฤษผิดหลักแกรมมาร์ หรือสะกดคำผิด หรืออ่านไม่รู้เรื่อง