24 เทคนิคตามสไตล์การเรียนรู้ เพื่อการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้เร็วยิ่งขึ้น

1588

บางคนมีพรสวรรค์ในการเรียนภาษาสามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับบางคนแล้วการเรียนภาษาอังกฤษก็อาจจะเป็นยาขมได้ เทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษที่ครูณิชาเรียบเรียงมาให้อ่านกันนี้เป็นเทคนิคที่จัดสรร-แบ่งประเภทตามสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

ซึ่งสไตล์การเรียนรู้เหล่านั้นถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ผู้เรียนรู้ด้วยหู (การฟัง), ผู้เรียนรู้ด้วยตา (การอ่าน/การดูสื่อ), และผู้เรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว (เน้นการกระทำเช่นทำแบบฝึกหัด)

.

(Auditory learners, Visual learners และ Kinesthetic learners)

ผู้เรียนรู้ด้วยการฟัง จะมีแนวโน้มในการทำความเข้าใจในการฟังได้มากกว่า และผู้เรียนกลุ่มนี้อาจจะพบอุปสรรคค่อนข้างมากในการอ่านคำอธิบาย คำแนะนำต่าง ๆ

หากคุณเป็นผู้เรียนรู้ประเภทนี้:

  • ฟังพวก Podcasts อันนี้แนะนำค่ะ มาอันดับต้น ๆ เลย Podcasts ภาษาอังกฤษ ฟังฟรี ๆ มีมากมายในอินเตอร์เน็ตสมัยนี้เลย ฟังเพียงไม่กี่นาทีผู้เรียนสไตล์นี้ก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่นแล้วค่ะ (ยิ่งฟังซ้ำ ๆ นะเผลอ ๆ ทักษะพูดได้มาจากไหนก็ไม่รู้เลยนะ)
  • ฟังเสียงอ่านหนังสือ (หาได้ตาม YouTube เช่นกัน) เมื่อใดก็ตามที่สามารถทำได้ ผู้เรียนประเภทนี้อ่านเองอาจจะเข้าใจยากหน่อย ดังนั้นต้องฟังเขาอ่านให้ฟังค่ะ
  • เมื่อเรียนในห้องเรียน ให้บันทึกเสียงการสอนไว้ฟังภายหลังในเวลาว่าง ๆ ค่ะ เพราะการเรียนในห้องกับผู้อื่น เสียงจอแจ อาจทำให้ผู้เรียนประเภทนี้เสียสมาธิได้ง่าย เพราะฉะนั้นการบันทึกเสียงไว้ฟังภายหลังจะช่วยได้มากค่ะ
  • อ่านออกเสียงดังฟังชัด (ให้เราฟังคนเดียวนะคะ) หรืออาจจะออกเสียงในใจ (ลองสำรวจดูนะคะเวลาเราอ่านหนังสือเราจะออกเสียงในใจ) ทีนี้พอเราโฟกัสที่เสียง หรือนึกถึงเสียงที่ได้ยินมา ผู้เรียนประเภทนี้จะจำได้นึกเรื่องราวออกง่ายขึ้นค่ะ (จดไว้ด้วยนะก่อนจะลืมอีกครั้ง)
  • ถ้าต้องทบทวนเตรียมสอบ การอ่านหนังสือออกเสียงให้ตนเองได้ยินก็สำคัญกับผู้เรียนประเภทนี้ และอาจจะมีการเปิดเพลงเบา ๆ นุ่ม ๆ เป็นเสียงแบ็คกราวน์ไว้ด้วยก็ได้ค่ะ แต่อย่าลืมโฟกัสที่การเรียนภาษาอังกฤษนะ
  • ฟังเพลง อ่านเนื้อร้อง แล้วก็ร้องตาม ร้องผิดถูกไม่ว่ากันค่ะ แต่ขอให้ร้อง ขอให้มีทำนอง ขอให้ได้ออกเสียงได้ฟังไปด้วย รับรองผู้เรียนประเภทนี้ไปไวแน่ ๆ (เผลอ ๆ จะร้องเพลงเก่งมากขึ้นด้วยนะเนี่ย)
  • วิธีการดูรายการ หรือภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเสียงอังกฤษคำบรรยายอังกฤษก็ดูจะเหมาะกับผู้เรียนแทบทุกสไตล์เลยนะคะ เพราะทั้งเห็นทั้งฟังมาด้วยกันหมดเลยผู้เรียนประเภทนี้อาจจะได้เปรียบหน่อยเพราะจะมีทักษะการฟังค่อนข้างดีค่ะ
  • พูดคุยกับชาวต่างชาติ ก็แน่นอนล่ะ การพูดคุยมาทั้งการพูด การฟัง วิธีการนี้ก็เหมาะกับผู้เรียนรู้สไตล์นี้เช่นกันค่ะ
  • ใช้สัมผัส เล่นคำในการช่วยจ อาจจะมีการแต่งเรื่องราวเป็นนิทานในการช่วยจำคำศัพท์บางคำ หรือช่วยจำหลักแกรมม่าที่ซับซ้อนบางเรื่องได้ค่ะ วิธีนี้อาจจะยากหน่อย แต่เชื่อว่าถ้าได้ทำแล้วผู้เรียนประเภทนี้น่าจะเรียนภาษาอังกฤษด้วยความสนุกมากขึ้นด้วยค่ะ

ผู้เรียนรู้ด้วยตา ผู้เรียนรู้ประเภทนี้จะทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย หากมีภาพประกอบ ไดอะแกรม แผนผังต่าง ๆ หรือแม้จะเป็นการอ่านเองก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก

ถ้าคุณเป็นผู้เรียนกลุ่มนี้เทคนิคการเรียนของคุณคือ:

  • ใช้ปากกาไฮไลท์ข้อมูลสำคัญ หรือมีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการอ่านที่แตกต่างกัน เช่น ขีดเส้นใต้คำใหม่ วงกลมด้วยปากสีในกรณีเป็นกลุ่มคำ เป็นต้น วิธีนี้ผู้ที่มีสไตล์การเรียนรู้นี้จะจำได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
  • จด หรือ ทำบัตรคำศัพท์ก็ได้ ตรงนี้ไม่ได้กำหนดนะคะว่าจะใช้อะไรจด เป็นข้อได้เปรียบของผู้ที่ใช้ตาเรียนรู้คืออะไรที่เป็นภาพ เป็นสีสันก็จะช่วยให้จำได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ อาจจะจดเป็น Personal Dictionary (พจนานุกรมส่วนตัว) เลยก็ได้ค่ะ คำศัพท์ – การออกเสียง – ความหมาย – ตัวอย่างประโยค
  • จัดหมวดหมู่คำศัพท์ลงเป็นกลุ่ม ๆ จะช่วยแยกประเภทและจดจำได้ง่ายขึ้น
  • แต่งประโยค วิธีนี้ครูณิชาก็ใช้เหมือนกันค่ะสมัยเรียนมัธยม เวลาเจอคำศัพท์ใหม่ ๆ ก็นำมาแต่งประโยค หรือหาโอกาสในการจดบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษด้วยเลย (พอย้อนกลับไปอ่านบันทึกเหล่านั้นมันเขิ้นน เขินมากเลยค่ะ)
  • ถ้าต้องอ่าน ผู้ที่มีสไตล์การเรียนรู้ประเภทนี้ต้องดูภาพรวมก่อนค่ะ อ่านหัวข้อ อ่านคร่าว ๆ อ่านสรุป แล้วจึงย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดอีกที ยิ่งอะไรที่ผ่านตาเรามาก เราจะยิ่งจำได้มากค่ะ
  • ดูคลิปสอนภาษาอังกฤษนอกจากจะหาได้ใน YouTube แล้ว ทาง Engnow.in.th ก็มีคอร์สสอนภาษาอังกฤษมากมายที่ตรงต่อความต้องการของทุกคน
  • ดูภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเสียงอังกฤษ และคำบรรยาย (ซับไตเติ้ล) เป็นภาษาอังกฤษ วิธีนี้ครูณิชาก็ว่าได้ผลเร็วนะคะ 2 – 3 เดือนก็รู้เรื่องแล้ววว
  • หาหนังสือแกรมม่าดี ๆ มาฝึก จะดาวน์โหลดจะซื้อก็ได้ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ pdf ที่เป็นแบบฝึกหัดมีเยอะแยะมากมาย ให้ดาวน์โหลดมาฝึกฝนได้เช่นกัน

ผู้เรียนด้วยการเคลื่อนไหว ผู้เรียนรู้กลุ่มนี้เป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติจริง เรียนไปทำไปจึงจะเข้าใจได้ อาจจะเน้นการทำแบบฝึกหัดหรือหาแบบฝึกหัดประทำเพิ่ม หรือใช้วิธีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก็จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย

หากคุณเป็นผู้เรียนประเภทนี้ นี่คือเทคนิคที่เหมาะสมกับคุณ:

  • ทำบัตรคำศัพท์ด้วยตนเอง ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำนะคะ เขียนเองวาดเอง ออกแบบเอง จะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ที่คุณเขียน หรือที่ได้เรียนรู้มาเข้าไปอยู่ในความทรงจำระยะยาวค่ะ
  • เล่นเกม อาจจะเป็นเกมที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่หาได้ตามเว็บไซต์ทั่วไป อาจจะชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันจะได้เกิดความท้าทายมากยิ่งขึ้น
  • บทบาทสมมุติ อาจจะนำบทละคร หรือบทภาพยนตร์ที่ชื่นชอบมาพูด มาแอคติ้งเล่นกับเพื่อนก็ได้ค่ะ วิธีนี้ได้ผลดีเช่นเดียวกัน
  • หากคุณจะอ่าน ก็ขอให้อ่านบทความสั้น ๆ ไม่ยาวนักและต้องมีการกระตุ้นด้วยการพักและเดินเล่นไปมาสักระยะก่อนกลับมานั่งอ่านต่อค่ะ
  • อันนี้เพื่อนครูณิชาคนนึงสมัยเรียนทำ คือนางจะแสดงแอคติ้งประกอบคำศัพท์เหล่านั้น หรือแสดงท่าทางเวลาอ่านหนังสือไปด้วย สำหรับนักเรียนที่อยู่ประเภทการเรียนรู้นี้จะช่วยให้จำง่ายขึ้นค่ะ
  • ท่องเที่ยว แน่นอนประเภทนี้การเคลื่อนไหวที่จะเรียนรู้ได้มากที่สุดก็คงจะเป็นการท่องเที่ยวไปในประเทศ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าใครไม่สะดวกวิธีอื่น ๆ หลาย ๆ วิธีก็ได้เหมือนกันค่ะ
  • หาเพื่อนชาวต่างชาติเพื่อจะได้พูดคุย และใช้ความรู้ที่เรียนมาจริง ๆ เลย เพราะผู้ที่เรียนรู้สไตล์นี้จะต้องกระทำจริง แอคชั่นออกมาจริง ๆ ดังนั้นการมีเพื่อนชาวต่างชาติไว้พูดคุยจริง ๆ ก็แนะนำเช่นกัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เรียนประเภทใด มีการเรียนสไตล์ใดก็ตาม ครูณิชาก็อยากจะแนะนำว่านอกเหนือจากเทคนิคที่เรียบเรียงมาให้อ่านกันแล้ว ก็ยังมีวิธีต่าง ๆ อีกมากมายในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญไม่ว่าจะเรียนรู้เทคนิคมามากเท่าใด ผู้ที่จะเห็นการพัฒนาได้ก็คือผู้ที่ทำเทคนิคนั้นมาปฏิบัติจริงค่ะ

Share
.