ไขความลับ! ปัญหาการลืมคำศัพท์

1569

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า….
 “ถ้าอยากเก่งภาษาอังกฤษ ต้องท่องศัพท์เยอะ ๆ

นั่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัญหาคือ มีหลาย ๆ คนที่ได้ทดลองทำตามนั้นแล้วบ่นว่า ยังมีปัญหากับการจำคำแปลอยู่เลย
พูดง่ายๆก็คือ ‘ลืม’ นั่นเอง

.

หากใครท่องศัพท์เยอะ ๆ แต่พอเจอคำศัพท์เข้าจริงๆแล้ว นึกคำแปลไม่ออก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่เป็นปัญหาของคนทั่วไป ที่ยังแยกไม่ออกว่า ‘การท่อง’ กับ ‘การจำ’ นั้น เราใช้สมองคนละส่วนกัน ถ้าจะให้อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวจะเบื่อกันเสียก่อน เอาเป็นว่า ประเด็นหนึ่งที่สรุปได้แน่นอนนั้น ก็คือว่า

เวลาที่เราพยายามท่องอะไรบางอย่าง (ยกเว้นสูตรคูณ) มันก็ไม่ต่างอะไรกับการอ่านแบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งสมองของเราจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ท่อง และเมื่อสมองไม่ได้ ‘เรียนรู้’ สิ่งใด มันก็จะไม่ ‘จำ’ สิ่งนั้น

ปัญหาของเทคนิคจำคำศัพท์

มีหลายๆคนพยายามคิดค้นเทคนิคการจำคำศัพท์ขึ้นมา หรือไม่ก็ไปนำวิชามาจากแหล่งการเรียนรู้ตามสื่อต่างๆมาทดลองใช้ บ้างก็ได้ผล บ้างก็ไม่ได้ผล หรือได้ผลแค่ในระดับหนึ่ง (ซึ่งต่ำมาก) และแม้ว่าเทคนิคของบางคนต้องอาศัยอุปกรณ์หรือช่วยมากมาย เช่น สมุด ดินสอ ปากกาไฮไลท์ หูฟัง ลำโพง โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ก็ยังไม่ได้ผลสักเท่าไร

ยกตัวอย่าง ‘กูรู’ บางคน ที่ตั้งสมมุติฐานว่า คุณควรจะมีความรู้เป็นคำศัพท์พื้นฐานง่ายๆ 1,000 คำก่อน สมมุติว่า คุณมีชีทคำศัพท์ TOEIC ที่จำเป็นต้องรู้ เขาแนะนำให้คุณนำปากกาไฮไลท์มาขีดเน้นว่า คำศัพท์ใดที่คุณรู้คำแปลชัวร์ ๆ ก็ไม่ต้องท่อง (ก็แหงล่ะสิ) โดยให้คุณใช้ปากกาไฮไลท์ 3 แท่งหรือ 3 สี ทำการไฮไลท์จำแนกคำศัพท์ออกมา เช่น

เหลือง – คำที่รู้คำแปลแน่นอน

เขียว – คำที่พอจะเดาคำแปลได้

ชมพู – ไม่รู้คำแปลเลย

ทั้งนี้ เขาแนะนำต่อไปว่า เวลาท่องทบทวนคำศัพท์เหล่านั้น ก็จะได้ไม่ต้องท่องคำสีเหลืองเลย (ก็แหงอีกนั่นล่ะ จะท่องไปทำไมล่ะ?) ให้ท่องคำสีเขียวบ่อยๆ จนกระทั่งจำได้ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (จะเปลี่ยนได้ยังไง ก็ระบายสีไปแล้ว) และให้ท่องคำสีชมพูบ่อย ๆ ค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเมื่อเริ่มคล่องแล้ว ก็ให้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง บลาๆๆๆ……

อ่านเทคนิคข้างต้นแล้วงงไหมครับ?

บางคนอาจจะไม่งง แต่ก็เปรยว่า “เคยลองเทคนิคนั้นแล้ว แต่เวลาไปเจอคำศัพท์ต่าง ๆ อีกไม่กี่วันต่อมา ก็ลืมคำแปลไปเกือบหมดแล้ว

ถึงแม้จะยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เขากล่าวไว้ แต่หลายๆคนที่ทดลองทำตามแล้ว ก็ไม่ได้ผลอยู่ดี

เพราะอะไร?

ก็เพราะหากเราสังเกตดูดีๆ เราจะพบว่าเทคนิคดังกล่าว รวมถึงเทคนิคอื่น ๆ มักจะมุ่งเน้นไปที่การท่อง (มากกว่า 90% ของขั้นตอนทั้งหมด) และเหลือเวลาให้สมองเรียนรู้ได้ไม่เท่าไร

นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ ‘ผิด’ เรียกว่า ผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรกเลย

ประเด็นสำคัญ คือ ‘การเรียนรู้’

ตามข้อเท็จจริงแล้ว เราควรใช้เวลาในการท่องเพียงประมาณ 10% เท่านั้น กล่าวสั้น ๆ คือ ท่องเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อจำตัวสะกดหรือคำอ่านแบบผ่าน ๆ ตาก็พอ

ส่วนเวลาที่เหลืออีก 90% จะต้องใช้ไปในการทำให้สมองได้มีโอกาส ‘เรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์’ นั้นๆ 

ดังนั้น ก่อนที่จะไปพูดถึงเทคนิคการจำ เราจึงควรทำความเข้าใจกับระบบการ ‘เรียนรู้’ ของสมองกันก่อน ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนอย่างที่คิด และอย่างน้อย เมื่ออ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้ว มันก็ช่วยให้คุณได้รู้แล้วว่า เทคนิคการท่องศัพท์ส่วนใหญ่นั้น มันผิดพลาดตรงจุดไหนและเหตุใดทำแล้วจึงไม่ได้ผล

หากใครต้องการทราบวิธีจำคำศัพท์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ก็สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง ‘สไตล์การเรียนรู้ควบคู่การจำ’ ซึ่งจะช่วยให้คุณตระหนักว่า เมื่อสมองของเรา ‘เรียนรู้’ คำศัพท์ มันจะจัดเก็บเข้าไปไว้ในระบบความจำของเราเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องฝืนบังคับตัวเองให้จดจำอีกเลยครับ

Share
.