สวัสดีค่ะครูณิชามาแล้วววว! วันนี้มีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะทำให้การเรียนรู้คำศัพท์ หรือการท่องคำศัพท์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้จำได้ง่าย จำได้มาก และนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่ง ๆ ขึ้นไป มาฝากกันค่ะ
เป็นกันมั้ยเอ่ย? คำศัพท์เยอะแยะ มากมายไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ท่องตรงไหน อะไรยังไง เวลาน้อยนิดจะจำอย่างไรได้หมด แล้วเราคนเดียวจำไหวเหรอ? วลีนี้ต้องมา หาคนมาช่วยจำด่วน ๆ แต่ไม่เป็นไรค่ะ ครูณิชามีเทคนิคที่ครูณิชาใช้เองมาแนะนำค่ะ
5 เคล็ดลับสู่การเป็นนักจดจำคำศัพท์
- Write your new words down. จดคำศัพท์ใหม่ ๆ ของคุณลงในสมุดโน้ต แนะนำเพิ่มเติมสมุดโน้ตควรมีการจัดระเบียบ (well organized) ให้ดีด้วย โดยองค์ประกอบของการจดศัพท์ที่ควรมี
- คำศัพท์ /คำอ่าน/ ประเภทคำ ความหมาย. ตัวอย่างประโยค ตัวอย่าง;
- notebook /โน้ตบุค/ นาม สมุดสำหรับจด,เขียน หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา. I have a new notebook.
- Read them again. หลังจากจดเรียบร้อยแล้ว อ่าน (ท่อง) อีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง (เพื่อบันทึกคำศัพท์ลงใน long-term memory) และหลังจากนั้นอ่าน, ทบทวนทุกครั้งที่มีโอกาสและได้พบเจอ เช่น จากตัวอย่างข้างบน สมุด (notebook เจอสิ่งของนี้ที่ไหนก็ไม่ลืมที่จะคิดเป็นภาษาอังกฤษว่า notebook)
- Be friendly with Collocation and Dictionary. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอ้ย ไม่ใช่ค่ะ เป็นมิตรกับ collocation และ dictionary ครูณิชาพบว่านักเรียนหลาย ๆ คนของครูณิชาไม่ค่อยชอบใช้ dictionary โดยเฉพาะ monolingual dictionary (Eng – Eng dictionary) พจนานุกรมภาษาเดียว เพราะอาจจะยุ่งยาก หรือแลดูยาก แต่จริง ๆ แล้วช่วยได้มากในการเรียนรู้คำศัพท์ รวมถึง collocation (คำที่ใช้คู่กันกับคำนั้น ๆ — ตอนต่อไปครูณิชาจะขยายความเพิ่มให้ค่ะ) อีกทั้งมีตัวอย่างประโยคและคำแปล (แน่นอนเป็นภาษาอังกฤษ) ที่ยกตัวอย่างสถานการณ์มาทำให้เข้าใจและใช้ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดด้วยค่ะ ต้องลองหา monolingual dictionary มาใช้กันบ้างแล้วนะคะ
- Remember new words with Flashcards and Friends. เรียนคำศัพท์ใหม่ ๆ ด้วยการทำบัตรคำศัพท์ (อาจจะทำเป็น Labels โดยใช้รูปแบบการจดแบบข้อแรกก็ได้ค่ะ จะได้จดจำคำศัพท์, ชนิดของคำ และตัวอย่างประโยคไปด้วยกันเลย) และสำหรับผู้เรียนที่ฝึกคนเดียวแล้วเบื่อ อาจจะหาเพื่อนมาร่วมกันฝึกก็ได้ค่ะ สนุกดีเหมือนกัน แต่สมัยเรียนครูณิชาฝึก ทบทวน ติวกันทีไร น้ำหนักขึ้นทุกทีค่ะ (5555 ครูณิชาว่าไม่เวิร์คเท่าใดสำหรับครู)
- Do some word puzzles. วิธีสุดท้ายครูณิชาชอบที่สุดค่ะ (สงสัยจะไม่ค่อยมีเพื่อน 5555) ครูณิชาจะชอบเล่นปริศนาที่เกี่ยวกับคำศัพท์ อาทิ จับคู่คำศัพท์กับความหมายหรือคำตรงข้าม หรือพวกปริศนาอักษรไขว้ภาษาอังกฤษ รวมถึง Riddles (ปริศนาคำทายสนุก ๆ ต่าง ๆ — ในภาษาไทยก็พวก อะไรเอ่ย…? นี่แหละค่ะ) สนุก และจดจำได้มากขึ้นจริง ๆ ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับ 5 เคล็ดลับที่ทำให้พวกเราจดจำคำศัพท์ได้ถาวร ยากที่จะลืมเลือนเลยล่ะ (อาจจะนึกไม่ออกบ้างถ้าไม่ได้ใช้ภาษาเลยเกิน 3 เดือนขึ้นไป) ทั้งหมดนี้ครูณิชานำมาใช้จริง ๆ ทั้งหมดเลย นำมาแชร์ให้กับพวกเราชาว Engnow.in.th เท่านั้นเลยนะคะ และหากใครต้องการอ่านเคล็ดลับดี ๆ บทความดี ๆ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเราง่ายขึ้น ก็สามารถลงทะเบียนรับ eBook ที่แบบฟอร์มที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอของผู้อ่านทุกท่านได้เลยค่ะ
ตอนนี้ครูณิชาขอตัวลาไปก่อนค่าาาาา So long~ 🙂