การเรียนรู้วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของเจ้าของภาษานั้น สำคัญพอๆกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เราจำเป็นต้องมีความรู้ทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดถึง 4 ข้อควรจำเกี่ยวกับธรรมเนียมในการใช้ภาษาอังกฤษกับผู้คนในประเทศเจ้าของภาษากันครับ
ท่องเอาไว้เป็นบทกลอนเลยก็ได้นะครับ เดี๋ยวเราค่อยขยายความและอธิบายให้ฟัง
อย่าเรียกชื่อตามหลังคำนำหน้า “อย่าทักทายว่า “Hey, you!” อย่าสอดรู้สอดเห็น อย่าคุยเป็นภาษาของตัวเองเมื่ออยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม และอย่าชุมนุมกันเกิน 7 คนขึ้นไป
เอ้ย! อันสุดท้ายนั่นไม่เกี่ยวครับ นั่นมันเป็นกฏระเบียบในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
เอาล่ะ…เลิกตลกได้แล้ว มาเริ่มกันเลยยย
1. อย่าเรียกชื่อตามหลังคำนำหน้า
ข้อนี้คนไทยมักเข้าใจผิดกันหลายคนเลย
สมมติว่า คุณชื่อ Jack Dawson ฝรั่งหรือเจ้าของภาษาที่ไม่เคยรู้จักคุณมาก่อน จะเรียกคุณว่า Mr. Dawson ไม่ใช่ Mr. Jack
ชื่อของผู้หญิงก็เช่นกัน สมมติว่าคุณชื่อ Jessica Pearson ฝรั่งหรือเจ้าของภาษาที่ไม่เคยรู้จักคุณมาก่อน จะเรียกคุณว่า Miss/Mrs. Pearson ไม่ใช่ Miss/Mrs. Jessica
สรุปง่ายๆ ก็คือ คำนำหน้า จะต้องตามด้วยนามสกุลหรือ Last name
อีกอย่างหนึ่ง คือ หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูง เช่น เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งหรือเจ้าของภาษาจะเรียกคนๆนั้นว่า Mr./Miss/Mrs. President เพื่อเป็นการให้เกียรติ
2. อย่าทักทายว่า “Hey, you!”
เคยได้ยินที่เขาพูดกันว่า “ไม่สนิท อย่าติดว้าว” ใช่ไหมครับ
ตามธรรมเนียมในประเทศเจ้าของภาษาแล้ว หากคุณไม่ได้สนิทกับใคร หรือไปเจอคนแปลกหน้าที่ไหน แล้วเกิดไปเรียกเขาว่า “Hey, you!” (เหมือนที่คนไทยเราชอบเรียกฝรั่งนักท่องเที่ยวแบบนั้น) จะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน หนำซ้ำยังอาจถูกมองว่าเป็นการ ‘จ้องจะหาเรื่อง’ อีกด้วย
ทางที่ดี ให้เข้าไปทักทายหรือเรียกคนที่เราต้องการจะคุยด้วย โดยเริ่มต้นด้วยคำว่า “Excuse me,……” จะดีกว่าครับ
3. อย่าสอดรู้สอดเห็น
ถ้าจะให้เต็มเนื้อความ ก็ต้องบอกว่า ‘อย่าสอดรู้สอดเห็น ไม่จำเป็นอย่าถาม’
ข้อนี้หมายถึงว่า ฝรั่งเขารักและให้ความเคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เขาจึงมีคำทักทายกันว่า “คุณสบายดีไหม” (How are you?) ซึ่งเป็นคำทักทายตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของเขา
หากคุณเอาขนบธรรมเนียมแบบของไทย จีน หรือประเทศอื่นๆในเอเชีย ไปใช้กับพวกเขา เช่น พอเจอหน้ากันก็ถามเขาว่า “ไปไหนมาเนี่ย” เขาอาจจะรู้สึกว่า คุณละลาบละล้วงมากเกินไป และอึดอัดใจที่จะต้องตอบ เพราะเขาอาจจะไปทำธุระส่วนตัวของเขามา
หรือหากคุณถามเขาว่า “กินข้าวหรือยัง” (ทักทายแบบชาวจีน) ฝรั่งก็อาจจะงงๆ นึกว่าคุณอยากจะชวนเขาไปกินข้าวที่ไหนสักแห่ง
เรื่องอื่นๆก็เช่นเดียวกัน สำหรับผู้คนในซีกโลกตะวันตกแล้ว การถามเรื่องที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้นั้น ถือว่าผิดธรรมเนียมอย่างมาก
4. อย่าคุยกันเป็นภาษาตัวเอง
เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม
สมมติว่า คุณพาเพื่อนต่างชาติไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งในเมืองไทย โดยมีเพื่อนคนไทยอื่นๆร่วมก๊วนไปด้วย ขณะที่นั่งพักทานอาหารกลางวันกันนั้น คุณคุยกับเพื่อนคนไทยด้วยกันเป็นภาษาไทย แล้วหัวเราะคิกคักๆกัน…คุณคิดว่าเพื่อนต่างชาติของคุณจะรู้สึกอย่างไร?
คำตอบ คือ เขาอาจจะคิดว่าคุณกำลังนินทาเขาต่อหน้า โดยอาศัยการที่เขาไม่รู้ภาษาไทย ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและหดหู่ใจขึ้นมาทันที
ผู้เขียนเคยมีกลุ่มเพื่อนชาวบราซิลกลุ่มใหญ่ แต่เวลาพวกเขาไปไหนมาไหนด้วยกันกับผม เพื่อนชาวบราซิลกลุ่มนั้นจะคุยกันเป็นภาษาอังกฤษเสมอ
ในตอนแรก ผู้เขียนเองก็แปลกใจ จึงถามพวกเขาว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่คุยกันเป็นภาษาบ้านเกิดของตัวเอง
พวกเขาอธิบายสั้นๆว่า….“การทำแบบนั้น มันเป็นการเสียมารยาทต่อเพื่อนชาวต่างชาติที่อยู่ในกลุ่ม”